วันอังคารที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2555

อาจารย์ สมาน หงษา


อาจารย์ สมาน หงษา
ในบรรดาศิลปินหมอลำรุ่นเก่ามิตรหมอแคนแฟนหมอลำคงคุ้นเคยกับ ชื่อ สมาน หงษา ที่จัดอยู่ในลำดับต้นๆ ในทำเนียบหมอลำอีสาน แม้แต่ ป.ฉลาดน้อย ศิลปินแห่งชาติ ปีล่าสุดก็ยกย่องให้เป็นอาจารย์
วันนี้ของหมอลำเรืองนาม สมาน หงษา เข้าสู่ปีที่ 64 ที่ผ่านมาแสดงในบ้านเราและต่างแดนร่วม 20 ประเทศ ทั้งอเมริกา เยอรมนี อังกฤษ ญี่ปุ่น ลาว ฯลฯ ได้หันหลังให้วงการหมอลำแล้ว โดยใช้ชีวิตอย่างพอเพียงในกระท่อมน้อย ตรงข้ามสำนักงานริมถนนใหญ่ ใน จ.อุบลราชธานี
สมาน ย้อนถึงวัยหนุ่มที่เป็นยุคเฟื่องของหมอลำกลอน ที่ถือเป็นแม่แบบของหมอลำปัจจุบัน "จบเปรียญสามประโยค แล้วมาเรียนหมอลำกับพี่ชาย ตั้งแต่ปี 2508 ครูที่สอน คือ อ.ทองคำ เพ็งดี ส่วน อ.เคน ดาเหลา นั้น พ่อผมไปเรียนวิชากับเขา เริ่มเล่นหมอลำตั้งแต่อายุ 19 ปี มีแคนดวงเดียวเล่นกันยันสว่าง สมัยนั้นมีงานกันเป็นเดือน เล่นกันทั้งกลางวัน กลางคืน จนตัวเหลืองหมด รุ่นเดียวกันมี เสาร์ พงษ์ภาค (พ่อของนพดล ดวงพร) เป็นเพื่อนกัน และก็ ฉวีวรรณ ดำเนิน ส่วนใหญ่จะตายหมดแล้ว ยุคนั้นเล่นกันคืนละ 300 บาท คู่กับ จันทร์แดง โสภา การเดินทางนั้น รถจะมีเป็นช่วงๆ ที่ไหนไม่มีรถต้องเดินกันไป เวทีแสดงไม่ใหญ่ เจ้าภาพจะจัดให้ ไม่เหมือนเดี๋ยวนี้ โลกเจริญแต่เราก็จะดับ"
หมอลำซิ่งหมอลำซิ่ง
ครูสมานกล่าวอย่างคนปลงตก หลังจากเลิกลำมาได้ 3 ปี เพราะเส้นเลือดตีบ ทำให้เป็นอัมพฤกษ์ ยืนไม่ได้ "เรื่องความรู้ก็ต่าง แต่ก่อนเล่นกันสดๆ มีกลอนถามไถ่กัน ด่ากันก็ใช้กลอน ต้องเรียนสูงเพื่อต่อสู้ (ในทางวิชา) กัน ถ้าอยากลำเก่งต้องเรียนสูงๆ บาลีก็ต้องเรียน สมัยก่อนมีกลอน เช่น เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ลาว นครเวียงจันทน์ เขาจะตั้งเป็นถาม-ตอบกัน หมอลำยุคนี้ไม่ได้กินหรอก ตอนนี้กลอนเก่าๆ ก็ถ่ายทอดให้ลูกชาย แต่บางอันก็ล้าสมัยไปบ้าง บางกลอนมีค่ากว่ากลอนสมัยใหม่ ปราชญ์สมัยใหม่แต่งไม่ได้อย่างสมัยเก่า พื้นฐานมันต่างกัน ถ้าคนเรียนสูงจะด้นได้สดเลย หมอลำยุคนี้แปรสภาพไปมาก เหมือนต้นไม้ที่ขยายสาขาออกไป แต่ไม่แข็งแรงเหมือนก่อน ทุกวันก็ยังติดตามอยู่ ฟังทางวิทยุ เมื่อคืนเขาเปิดลำกลอนสุนราภิรมย์ ฟังแล้วน้ำตาคลอนึกถึงอดีต" หมอลำฝีปากเฉียบเปรียบเทียบวงการหมอลำสมัยก่อนกับวันนี้
ครูสมาน ได้บันทึกลำกลอนไว้หลายชุด โดยล่าสุดอยู่กับค่ายท็อปไลน์ 3 ชุด ก่อนหน้านั้นสังกัดค่ายกรุงไทย ออดิโอ ที่มีผลงานประมาณ 6 ชุด และที่ค่ายราชบุตร ใน จ.อุบลราชธานี อีกเกือบ 20 ชุด โดยมีลำกลอนที่เป็นที่รู้จัก ได้แก่ "เต้ยหัวหงอกหยอกสาว" ที่ ไวพจน์ เพชรสุรรณ นำมาร้องใหม่ เมื่อไม่นานมานี้ ในช่วงที่โด่งดัง ป.ฉลาดน้อย ก็เคยสะพายกระเป๋า ขึ้นเกวียนไปงานด้วยกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น