วันพุธที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2555

เทพดนตรีเมืองมหาสารคามครับ


ร่วมด้วยฯ ช่วง ''ปราชญ์เดินดิน'' สัปดาห์นี้พบกับ ''ปราชญ์นักดนตรี เทพแห่งแคน''
      "ปราชญ์นักดนตรี เทพแห่งแคน" คุณสมบัติ สิมหล้า แขกรับเชิญช่วงปราชญ์เดินดิน มนุษย์เรามีพรสวรรค์ด้านความรู้ ความสามารถ และการแสดงที่แตกต่างกัน แต่สำหรับสมบัติ สิมหล้า นั้นมีทั้งพรสวรรค์และพรแสวงคู่กัน จนเกิดเป็นตำนานเดี่ยวแคนมือหนึ่งแดนอีสานชื่อดัง

      คุณสมบัติ สิมหล้า ลูกชาวนาอีสานเกิดเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2506 บุตรของนายโป่ง นางบุดดี สิมหล้า ที่บ้านวังไฮ ตำบลวังใหม่ อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม เขาเป็นผู้ที่อยู่ในโลกมืดมาตั้งแต่วัยเด็ก เนื่องจากหมอตำแยที่ทำคลอดเมื่อแรกเกิดหยอดยาผิดจนทำให้ตาติดเชื้อและบอดสนิท
แต่ในโลกแห่งความมืดยังมีแสงสว่างในหัวใจส่องสู่โลกแห่งความสนุกสนานและมนต์เสน่ห์ของดนตรีพื้นบ้านอีสาน เนื่องด้วยทั้งผู้เป็นพ่อเป็นหมอแคนและแม่เป็นหมอลำกลอนแห่งหมู่บ้านจึงได้ถ่ายทอดวิชา “เป่าแคน” ให้กับสมบัติ สิมหล้า เป็นเครื่องดนตรีคู่กายและฝึกฝนจนมีความชำนาญเป็นสะพานเชื่อมโยงสู่โลกปัจจุบัน

      เสียงแคนคือสื่อมนต์ขลังให้หลายคนคิดถึงบ้าน แต่สำหรับสมบัติ สิมหล้า คือสื่อที่ทำให้เขาได้ตระเวนไปทั่วอีสาน ต่างสถานที่ต่างเวลา ต่างท้องถิ่น และถูกพาไปไกลเรื่อย ๆ โดยขออาศัยนอนตามโรงพัก นอนตามท่ารถ เพื่อให้ได้มาซึ่งเศษสตางค์สำหรับผู้ที่ใจบุญต่อผู้ที่อยู่ในโลกมืดอย่างเขา จนเมื่ออายุได้ 11 ปี จึงมีโอกาสขึ้นเวทีเป่าแคนให้หมอลำบัวผัน ดาวคะนอง, หมอลำคำพัน ฝนแสนห่า, หมอลำวิรัติ ม้าย่อง โดยได้รับค่าตอบแทนคืนละ 500 บาท นับว่ามีค่ามหาศาลแตกต่างจากที่เขาต้องตระเวณเป่าแคนในต่างถิ่น

      เมื่อมีความชำนาญด้านการเป่าแคนลายต่าง ๆ สมบัติ สิมหล้า ได้มีโอกาสเข้าประกวดการเป่าแคนที่กองบินทหารอากาศมหาสารคามได้ลำดับที่ 1 และประกวดระดับภาคที่จังหวัดขอนแก่นได้รับรางวัลชนะเลิศ จึงเป็นเส้นทางให้เขาได้มีโอกาสร่วมบันทึกเสียงแคนให้กับหมอลำชื่อดังหลายคนที่ห้องอัดเสียงสยามจังหวัดขอนแก่น

      ชื่อเสียงของสมบัติ สิมหล้า เป็นที่รู้จักของผู้ชมทั่วประเทศและเป็นคนดังทั่วประเทศเมื่อได้รับเชิญจากทีมงานรายการทไวไลท์ไชว์ของไตรภพ ลิมปพัทธิ์ และการแสดงในครั้งนั้นเป็นสะพานเชื่อมโยงสู่การแสดงร่วมนักดนตรีระดับแนวหน้าของเมืองไทย เช่น สุรชัย จันทิมาธร, วง “ฟองน้ำ” ของครูบุญยงค์ เกตุคง และอาจารย์บรูส แกสตัน, วงไทยแลนด์ ฟีลฮาร์โมนิก ออร์เคสตาร์ หรือ TPO วงออร์เคสตรา ของคณาจารย์ และนักศึกษาวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล อำนวยการวงโดย ดร.สุกรี เจริญสุข รวมทั้งการได้รับเชิญไปแสดงในเอเชีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา

      ความภาคภูมิใจในชีวิตของสมบัติ สิมหล้า มือแคนจากแดนอีสานนั่นคือการได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษการเป่าแคนให้กับนักศึกษาที่สนใจศิลปะดนตรีพื้นบ้านอีสาน จากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันการศึกษาในภาคอีสานหลายแห่ง

      กับวิถีชีวิตของสมบัติ สิมหล้าในวันนี้เขามีความสุขกับครอบครัวโดยได้พบรักกับหลานสาวของหมอลำผีฟ้าแห่งบ้านไชโย อำเภอบรบือ มีความสุขตามอัตภาพโดยมีลูกสาวอีกคนเป็นโซ่ทองคล้องใจ และเขาที่มุ่งมั่นให้เป็นหมอแคนหญิงในอนาคตให้ได้ โดยพักอยู่ที่ บ้านเลขที่ 22 หมู่ที่ 8 บ้านวังไฮ ตำบลวังใหม่ อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม รับงานแสดงทั่วไปและเป็นอาจารย์พิเศษในสถานการศึกษาเป็นบางช่วง

      สำหรับแคนคู่ใจของสมบัติ สิมหล้า ได้มีความหมายและความสำคัญต่อวิถีชิวิตทั้งในอดีตและปัจจุบันว่า “แคนเป็นเครื่องดนตรีที่ดึงดูดคนอีสานไว้ด้วยกัน ผูกมัดหัวใจเขาไว้ด้วยกัน เครื่องดนตรีชนิดใดก็ขาดได้ แต่ถ้าขาดแคนไปเสียแล้วทำอะไรไม่ได้เลย หมอลำลำไม่ได้ถ้าไม่มีแคน ไปไหนก็แล้วแต่ คิดถึงบ้านก็ต้องเป่าแคน ฟังแคน” “มันสำคัญขนาดคนอีสานสมัยก่อน ถ้าไม่มีแคนนี่แทบหาเมียไม่ได้ เพราะเขาต้องสะพานแคนออกไปจีบสาว ออกพรรษาแล้วเวลาเขานวดข้าวหรือเข็นฝ้าย อากาศหนาว ๆ พวกหนุ่ม ๆ ก็สะพานแคนเดินไป พอเจอบ้านไหนก็หยุดเป่า เอาเม็ดมะขามมาคั่วกิน ผิงไฟไป คุยกับผู้สาวไป”

     หากไม่มีแคนในวันนี้วิถีชีวิตของสมบัติ สิมหล้า คงไม่ได้เปิดโลกทัศน์ดนตรีพื้นบ้านอีสานเป็นสะพานเชื่อมสู่โลกยุคเทคโนโลยีกับดนตรีสมัยใหม่ ดังคำกล่าวของเขาที่กล่าวไว้ว่า "อย่าไปน้อยใจ ท้อแท้ใจ คนเราถ้ายังไม่หมดลมหายใจ ก็อย่าไปท้อ ผมเกิดมายังไม่ทันได้เห็นอะไร ตาก็บอดเสียแล้ว แต่ผมก็ไม่เคยท้อ ยิ่งท้อยิ่งทำให้อายุสั้น"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น